สวัสดี ค่ะ ยินดีต้อนรับ สู่.... ห้องสมุดประชาชน " เฉลิมราชกุมารี " อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี

ประวัติห้องสมุด

ห้องสมุดประชาชน เฉลิมราชกุมารี อำเภอดอนเจดีย์
         
ห้องสมุดประชาชนเฉลิมราชกุมารีอำเภอดอนเจดีย์  เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖  โดยมีนายประชุม  พลเดช  อดีตผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดสุพรรณบุรีได้นำเรื่องนมัสการพระเทพสุวรรณโมลี  เจ้าอาวาสวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร  เจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี  เพื่ออาราธนาให้เป็นผู้อำนวยการสร้าง  พระเทพสุวรรณโมลี  เห็นว่า  วัดดอนเจดีย์ตั้งอยู่ในบริเวณพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์  ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์  สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  สมควรเป็นที่ตั้งห้องสมุดประชาชนเฉลิมราชกุมารี  จึงมอบหมายให้วัดดอนเจดีย์เป็นผู้ดำเนินการสร้าง  เมื่อเห็นชอบดังนี้  นายประชุม  พลเดช  จึงเชิญดร.กษมา  วรวรรณ ณ อยุธยา  ขณะดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียนมากำหนดสถานที่ก่อสร้าง  ส่วนรูปแบบอาคารซึ่งแปลกกว่าห้องสมุดทั่วไปนั้น  เพราะผู้ดำเนินการได้จำลองรูปแบบมาจากพระราชวังจันทร์เกษม  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ด้วยเดชะพระบรมเดชานุภาพสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  การสร้างห้องสมุดฯแห่งนี้จึงได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการและประชาชนทั่วไป  โดยเฉพาะนายขรรค์ชัย  บุนปานแห่งบริษัท  มติชน  จำกัด  ให้การสนับสนุนมากเป็นพิเศษ  ผู้สนับสนุนดังกล่าวได้ร่วมบริจาคทรัพย์  เป็นค่าก่อสร้างทั้งสิ้น  เป็นเงิน  ๑๐ ล้านบาท
      
เตรียมสถานที่ขอใช้สถานที่ของวัดดอนเจดีย์บริเวณภายในพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์



อาราธนาพระเทพสุวรรณโมลี (เจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี)
                                                        เป็นผู้อำนวยการสร้าง




เริ่มก่อสร้าง วันที่  28  กุมภาพันธ์  2536




 เป็นอาคารสองชั้น มีชั้นใต้ดิน



สร้างอาคารห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” อำเภอดอนเจดีย์

เสร็จเมื่อ ประมาณ ปี 2539












อธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน ดร.กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา

ตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน



พิธีเปิดห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี”อำเภอดอนเจดีย์ แห่งที่ ๕๗

วันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๔o

โดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี







จุดเด่นของห้องสมุดประชาชน”เฉลิมราชกุมารี”อำเภอดอนเจดีย์



ส่วนรูปแบบอาคารซึ่งแปลกกว่าห้องสมุดทั่วไป เพราะได้จำลองรูปแบบมาจากพระราชวังจันทร์เกษม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นอาคารทรงไทย




ห้องสมุดประชาชน เฉลิมราชกุมารี อำเภอดอนเจดีย์ จะเป็นศูนย์กลางของการแสวงหาความรู้ตลอดชีวิต  โดยไม่มีข้อจำกัด พื้นที่  833  ตารางเมตร ได้แบ่งสัดส่วนเพื่อให้เกิดประโยชน์การใช้สอยสูงสุด เป็นห้อง และมุมต่างๆ  ดังนี้

ห้องเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

ห้องเฉลิมพระเกียรตินี้ถือเป็นหัวใจของห้องสมุดประชาชน “ เฉลิมราชกุมารี “ อำเภอดอนเจดีย์ ออกแบบตกแต่งเพื่อความกลมกลืนกับลักษณะสถาปัตยกรรมอย่างไทย ภายในห้องได้จัดโต๊ะ
ทรงพระอักษรสำหรับพระองค์ท่านในวันเสด็จเป็นองค์ประธานเปิดห้องสมุด ภายในอาคารแสดงเรื่องราวพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจของพระองค์ บันทึกอยู่ในเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ตู้หนังสือซึ่งรวบรวมหนังสือพระราชนิพนธ์ส่วนหนึ่ง โดยอีกส่วนหนึ่งจะนำไปแสดง ณ ห้องหนังสือทั่วไป พื้นที่รอบห้องจะแสดงงานเขียนสีน้ำมันพระจริยวัตรสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ตั้งแต่ อรุณวัยไขแสง เจิดแจรงพระอัจฉริยะเด่นล้ำพระจริยวัตร องค์รัฐสีมาคุณากร

 

ห้องศิลปินเพลงเมืองสุพรรณ

วิถีชีวิตของชาวนาไทยบนพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง แหล่งผลิตข้าวแหล่งใหญ่ของประเทศไทย ผสมผสานวิถีชีวิตและประเพณีท้องถิ่นที่เรียบง่ายเป็นบ่อเกิดแหล่งลำนำเพลงพื้นบ้าน พ่อเพลง – แม่เพลง ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปินแห่งชาติ ต่อเนื่องมายังเพลงอีแซว การขับเสภา มาสู่ยุคราชาลูกทุ่งผู้ที่มีชื่อเสียง สุรพล สมบัติเจริญ ดินแดนเมืองสุพรรณแห่งนี้ ได้รับการยอมรับว่าเป็นแหล่งผลิตศิลปินเพลงลูกทุ่งมากที่สุดในประเทศไทย ห้องศิลปินเพลงเมืองสุพรรณจะรวบรวมศิลปินแห่งชาติ ได้แก่ ครูมนตรี ตราโมท ,แม่บัวผัน จันทร์ศรี ,ครูแจ้ง คล้ายสีทองและ ขวัญจิต ศรีประจันต์ นอกจากนี้ยังได้รวบรวมศิลปินลูกทุ่งที่ได้รับความนิยมและยอมรับ จากประชาชน เช่น สุรพล สมบัติเจริญ, ไวพจน์ เพชรสุพรรณ, สายยัณห์ สัญญา, เสรี รุ่งสว่าง, พุมพวง ดวงจันทร์ ฯลฯ





ห้องพุทธศาสน์ : ปราชญ์เมืองสุพรรณ

นอกเหนือจากวิถีชีวิตชาวชนบทที่เรียบง่าย การดำรงชีวิตอย่างมีความสุขจะเป็นแหล่งกำเนิดศิลปินลูกทุ่งเมืองไทยแล้วชาวสุพรรณจากอดีตจนถึงปัจจุบันได้สร้างนักปราชญ์แห่งแผ่นดินทั้งข้อคิดและคำสอนของท่านเป็นหลักในการดำเนินชีวิตแก่ บุตร หลาน ให้ประพฤติ ปฏิบัติแต่สิ่งที่ดีงาม ภาพซึ่งเป็นตัวแทนแห่งคำสอนของท่านตั่งแต่สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17 ทำให้ผู้พบเห็นเกิดความดื่มด่ำในรสพระธรรมในส่วนของผู้ที่ต้องการความรู้จากพระไตรปิฎก จะสามารถศึกษาได้อย่างสมบูรณ์แบบ จาก พระไตรปิฎก ตำรา เอกสาร และข้อมูล ที่ท่านสามารถสืบค้นได้



มุมเด็กและครอบครัว

นำเสนอสื่อประสมเพื่อพัฒนาทั้งทางร่างกายและความคิด โดยจัดแบ่งสื่อดังกล่าวตามวัย และความพร้อมของเด็กมุ่งให้เด็กได้แสดงออกทางพฤติกรรมอย่างเหมาะสม ในขณะเดียวกันพยายามใช้สื่อเป็นตัวกระตุ้นให้เด็กได้มีโอกาสค้นหาสิ่งที่เขาต้องการเรียนรู้ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เหมาะสมกับการพัฒนาทักษะด้านต่างๆได้ถูกจัดอย่างเป็นระบบ มีมุมผู้ปกครองให้สามารถนั่งพักผ่อน เพื่อสังเกตและรับรู้การแสดงออกของบุตร หลานของคนที่มาใช้บริการและมีโอกาสที่จะได้พูดคุยกับผู้ปกครองผู้อื่นที่มานั่งพักผ่อนด้วยกัน เป็นการแลกเปลี่ยนความคิด รวมทั้งได้จัดสื่อสิ่งพิมพ์ที่เป็นประโยชน์แก่ตนเอง และครอบครัว ทั้งในด้านสุขภาพอนามัย และการพัฒนาคุณภาพชีวิต


มุมหนังสือทั่วไป

หนังสือมากกว่า 1 หมื่นเล่ม ทุกประเภทได้ถูกจัดอย่างเป็นระบบที่ผู้สนใจสามารถสืบค้นได้จากระบบการสืบค้นชื่อเรื่อง หรือชื่อผู้แต่งจากเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ หนังสือพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ได้จัดไว้ในตู้หนังสือที่พร้อมสำหรับการศึกษา ทั้งภายในห้องสมุดและสามารถยืมกลับไปอ่านที่บ้านของท่านได้ นอกจากนี้เราได้จัดมุมแนะนำหนังสือใหม่ที่น่าสนใจ เราเปิดกว้างสำหรับการให้บริการหนังสืออ้างอิงท่านสามารถสืบค้นข้อมูลในระบบเชื่อมโยงกับห้องสมุดประชาชน “ เฉลิมราชกุมารี “ อำเภอด่านช้าง และห้องสมุดประชาชนอำเภอทุกอำเภอในจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อตอบสนองการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างไม่มีขีดจำกัด



มุมสุพรรณบุรี

ชั้นล่างของห้องสมุดประชาชน “ เฉลิมราชกุมารี “ อำเภอดอนเจดีย์ จะเป็นส่วนของการนำเสนอประวัติความเป็นมาของเมืองสุพรรณบุรี ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การสร้างมุมศิลป วัฒนธรรม อารยธรรมสองฝั่งแม่น้ำท่าจีน ( แม่น้ำสุพรรณบุรี ) ความกล้าหาญ รักชาติ รักแผ่นดินของบรรพบุรุษที่ยอมสละทุกสิ่งแม้ชีวิตเพื่อปกป้องพื้นแผ่นดินให้อยู่กับลูกหลาน สู่ยุคปัจจุบันที่ความเจริญทางวัตถุมาถึงชีวิตของชาวสุพรรณบุรี ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนักความรักและความภาคภูมิใจในความเป็น “ คนสุพรรณ “ ที่เข้มข้น ชาวสุพรรณทุกคนไม่ว่าจะอยู่ที่ใดต่างมีใจตรงกันที่พร้องจะพัฒนาบ้านเมืองเกิดให้เจริญทัดเทียมกับเมืองอื่นๆ